วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ต.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 ม.ค. 2566
โครงการประกวดบทความเพื่อส่งเสริมทักษะทางวิชาการ ประจำปี 2564
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์
ชื่อ-สกุล |
ณัฐพล รอมาลี |
มหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษา |
มหาวิทยาลัยคิงคอลิด |
สาขาวิชาที่ศึกษา |
อูซูลุดดีน (ศาสนศาสตร์) |
ชื่อเรื่อง |
“ศาสนา” ครรลองธรรมของมนุษย์ เพื่อมนุษย์ |
จำนวนหน้า (ไม่รวมอ้างอิง) |
13 |
จำนวนคำ (ไม่รวมอ้างอิง) |
5029 |
“ศาสนา” ครรลองธรรมของมนุษย์ เพื่อมนุษย์
ในสภาพสังคมของมนุษย์ที่การดำเนินชีวิตมีความซับซ้อนและหลากหลาย จนอาจเลยเถิดจากศีลธรรมและจริยธรรมได้ จะส่งผลให้ผู้คนห่างไกลจากคำสอนของศาสนามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันหรือยุคที่มีการสื่อสารข้อมูลกันอย่างรวดเร็ว เป็นสังคมออนไลน์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของคนในยุคนี้ไปแล้ว ผู้คนต่างมีช่องทางในการแสดงตัวตน แสดงความคิดเห็นอย่างรวดเร็วกันมากขึ้น โดยอาจจะไม่คำนึงตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่มาให้ถูกต้องหรือชัดเจนเสียก่อน จึงทำให้มีการแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม หลายความคิดหรือต่างที่มา ทั้งนี้จึงส่งผลให้คนในสังคมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายให้ได้
ดังนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเก่าที่มีการพูดคุยกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่มีประเด็นใหม่ ๆ ออกมาให้ได้พูดคุยกันอยู่เสมอ การที่คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลายได้อย่างสงบสุขนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว หรือแนวคิดที่หล่อหลอม ส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกในสังคมของแต่ละบุคคล ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนเอง หนึ่งในเครื่องยึดเหนี่ยวที่มีประสิทธิภาพคือศาสนา คำสอนของศาสนาสามารถขัดเกลาให้ผู้ที่นับถือได้ปฏิบัติตามหรือมีความคิดและแสดงออกถึงพฤติกรรมอันดีงาม จะทำให้การดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันและก่อให้เกิดสังคมอย่างสงบสุข
ผู้เขียนเล็งเห็นว่าคำสอนในศาสนามีความใกล้เคียงกับธรรมชาติของมนุษย์ และสามารถยับยั้งกิเลสหรือความคิดไม่ดีที่อยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ได้ ในความเห็นของผู้เขียน ศาสนาเป็นจึงเครื่องมือที่คอยย้ำเตือนให้เราสำรวจตัวเองก่อนที่จะสำรวจผู้อื่น อันเห็นได้จากหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่ผู้เขียนนับถือดังต่อไปนี้
เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural society) เป็นสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มชนที่มีความหลากหลาย มีความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา ภาษา การแต่งกาย การเป็นอยู่ เป็นต้น เพราะแต่ละกลุ่มชนมีความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การที่จะทำให้แต่ละคนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกันได้ จะต้องมีการพึ่งพาช่วยเหลือกัน ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายกัน ไม่จนถึงไม่ละเมิดสิทธิ์ของกันและกัน แต่ละกลุ่มชนสามารถประกอบพิธีทางศาสนาได้ตามความเชื่อและศรัทธาของตนเอง อย่างเสรีภาพโดยที่ไม่มีการกีดกัน ก้าวกาย ล่วงละเมิด หรือก่อกวนซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างได้อย่างสันติ
อิสลามมีคำสอนที่ได้กำชับมุสลิม ไว้ว่าต้องให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ในทุกศาสนาและความเชื่อ โดยให้ระมัดระวังต่อการไปบริภาษ กล่าวตำหนิ ติเตียน การด่าท่อ การเหยียดหยามต่อความเชื่อศาสนาอื่น เพราะนั้นถือเป็นการแสดงออกถึงความไม่ให้เกียรติกันและเป็นการขัดต่อคำสอนอย่างชัดเจน
ดังพระองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ﷻ [1] ทรงตรัสว่า
وَلاَ تَسُبُّواْ الَّذِينَ يَدْعُونَ مِن دُونِ اللَّهِ فَيَسُبُّواْ اللَّهَ عَدْوًا بِغَيْرِ عِلْمٍ
ความว่า : “และพวกเจ้าจงอย่าได้ด่าทอบรรดาสิ่งที่พวกเขาวิงวอนขอ จากสิ่งที่ไม่ใช่อัลลอฮ์ เพราะพวกเขาจะด่าทออัลลอฮ์อย่างละเมิดโดยปราศจากความรู้ใด ๆ ” (บทอัลอันอาม,โองการที่ 108)
นอกจากการที่อิสลามได้สอนมุสลิมในเรื่องการเคารพสิทธิการนับถือศาสนาและให้เกียรติแก่เพื่อนมนุษย์แล้ว อิสลามยังส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมในการทำดีแก่มนุษย์ทุกคนด้วยเช่นกัน
ดังพระองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ﷻ ทรงตรัสว่า
لَا يَنْهَاكُمُ اللَّهُ عَنِ الَّذِينَ لَمْ يُقَاتِلُوكُمْ فِي الدِّينِ وَلَمْ يُخْرِجُوكُمْ مِنْ دِيَارِكُمْ أَنْ تَبَرُّوهُمْ وَتُقْسِطُوا إِلَيْهِمْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُقْسِطِينَ
ความว่า: “อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้า เกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม”: (บทอัลมุมตะหินะฮฺ โองการที่ 8)
หากเราลองย้อนกลับไปดูแบบฉบับอันดีงามของท่านนะบีย์มูฮำหมัด ﷺ ที่ได้กระทำเป็นแบบอย่าง ท่านนบีมีการดะวะห์ (เผยแพร่) ด้วยกับฮิกมะห์ (การใช้วิทยปัญญา) ในด้านการกระทำที่ดีงามมากว่าคำพูด ท่านไม่เคยสอนให้เราบริภาษหรือตำหนิติเตียนเทศกาลของศาสนาอื่น กลับกันท่านยังให้เกียรติความเชื่อที่แตกต่างอีกด้วย
ตัวอย่างแห่งความดีงาม เช่น เมื่อครั้งหนึ่งปรากฏว่าในขณะที่ขบวนแห่ศพของชายชาวยิวได้ผ่านมา ท่านนะบีย์มูฮำหมัด ﷺ [2] ได้ยืนขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่ศพนั้น อัครสาวกท่านหนึ่งจึงได้กล่าวกับท่านศาสดาว่า “ศพที่ผ่านไปนั้นเป็นศพของชายชาวยิว!” ท่านศาสดาจึงได้ตอบไปว่า “ชาวยิวไม่ใช่มนุษย์ดอกหรือ!” และท่านศาสดายังได้กำชับแก่อัครสาวกว่า เมื่อพวกท่านเห็นศพผ่านมา ก็จงยืนขึ้นเถอะ”
มุสลิมหลายคนเคร่งครัดในเรื่องศาสนาถือเป็นเรื่องที่ดี เเต่บางคนขาดความรู้ในเรื่องบริบทการอยู่ด้วยกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรม ฉะนั้นแล้วจะทำอะไรต้องคิดไตร่ตรองให้รอบครอบเพราะแท้จริงพระองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ﷻ ทรงรักบุคคลที่รอบคอบ
เพราะเรามิใช่ผู้พิพากษา
การเป็นผู้พิพากษา ในที่นี่จะสะท้อนถึงสภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่มีสื่อสังคมออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ต ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ทำให้การสื่อสารเป็นไปด้วยความสะดวกสบายและรวดเร็ว แทบจะกลายเป็นช่องทางหลักในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือติดตามความเคลื่อนไหวของสังคม
ผู้เขียนเห็นว่า การเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายขึ้นและในทุกช่องทางเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เอื้อให้เรากลายเป็นผู้พิพากษาได้ง่ายขึ้น ซึ่งเราเองอาจไม่ได้เข้าไปในฐานะคนเสพสื่อเพียงอย่างเดียว แต่มีโอกาสประพฤติตัวเป็นผู้ตัดสินคนอื่นหรือถูกตัดสินได้ทุกเมื่อเช่นกันในสนามสังคมออนไลน์ เพราะคนส่วนใหญ่มี social network อยู่ในมือ มีการตัดสินจากข้อคิดเห็นคำวิจารณ์กันอย่างสนุกปาก ความเสรีโดยไม่ต้องมีตัวตนที่ชัดเจนในสื่อออนไลน์หลายครั้งนำมาซึ่ง “สงครามน้ำลาย” ที่เต็มไปด้วยอารมณ์และการใส่ร้ายป้ายสีกันไปมาได้ในทุกหัวข้อสนทนา บางครั้งถึงขั้นเลยเถิดไปเป็นการด่าทอกันมากกว่าจะเป็นการแสดงออกทางความคิดบนฐานของเหตุผล
โดยเมื่อมีการแสดงความคิดเห็นเชิงตัดสิน เราจะเห็นพื้นฐานข้อมูลของแต่ละบุคคลที่ได้รับมาจากความเห็น ชุดความคิด บรรทัดฐานของตนเองหรือคำบอกเล่าของผู้อื่น แล้วทำการตัดสินหรือไม่เสียเราก็จะกลายเป็นผู้ที่ถูกตัดสินโดยผู้อื่นด้วยวิธีการดังกล่าวได้อย่างง่ายด้ายเช่นกัน
และเหตุการณ์เช่นนี้มักมีให้เห็นอยู่เสมอ ตามสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งมีไม่น้อยที่ชีวิตคน ๆ หนึ่ง ต้องประสบณ์กับความทุกข์ยากมากมาย อันเกิดมาจากการถูกกล่าวหาหรือตัดสินเพียงผิวเผิน ผู้เขียนจึงตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ สำรวจตนเองก่อนที่จะสำรวจผู้อื่น จึงได้หาเครื่องยึดเหนี่ยวและเครื่องเตือนใจในการดำรงชีวิต ซึ่งที่สิ่งที่ผู้เขียนใช้เตือนตนเองอยู่เสมอคือ หลักคำสอนของศาสนาที่ ท่านนะบีย์มูฮำหมัด ﷺ ทรงกล่าวว่า
لايَرْمِي رَجُلٌ رَجُلاً بِالفُسُوْقِ وَلاَ يَرْمِيْهِ بِالكُفْرِ اِلاَّ ارْتَدَّتْ عَليْهِ اِنْ لَمْ يَكُنْ صَاحِبُهُ كَذَلِكَ
ความว่า : “ คนหนึ่งจะไม่ใส่ร้ายอีกคนหนึ่งด้วยความชั่ว และจะไม่ใส่ร้ายเขาด้วยการตัดสินเขาตกเป็นกาฟิร(คนนอกศาสนา) นอกจากข้อหานั้นมันจะย้อนกลับสู่ตัวเขาเอง หากผู้ถูกใส่ร้ายมิได้เป็นเช่นนั้น ” หะดีษศอฮิห์ อิหม่ามอัลบุคอรีย์ เลขที่ 5585.
คำสอนนี้เป็นสิ่งที่คอยเตือนใจให้เราสำรวจและดึงตัวเองกลับมา เมื่อเราเริ่มรู้ตัวว่าเรากำลังตัดสินคนใดคนหนึ่งอยู่ จากคำกล่าวของท่านศาสดามูฮำหมัด ﷺ จึงเป็นเครื่องที่คอยย้ำเตือนได้เสมอว่า เราไม่มีสิทธิ์อันชอบธรรมใด ๆ เลยที่จะไปกล่าวหาผู้อื่น และความผิดบาปนั้นจะย้อนกลับมาสู่ตัวเราเอง หากสิ่งที่เรากล่าวหาผู้อื่นนั้นไม่เป็นความจริง คำสอนนี้เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้คน ๆ หนึ่งกลายเป็นคนที่มีจรรยามารยาทอันดีงาม และหากผู้คนในสังคมต่างตระหนักได้ถึงข้อนี้ ก็จะเป็นการจรรโลงสังคมให้เกิดความสงบสุขได้
สื่อสังคมออนไลน์เป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้ที่ดี หลายคนได้ความรู้ใหม่จากสื่อสังคมออนไลน์ ทุกประเด็นที่เกิดการถกเถียงได้ถือเป็นเรื่องดี แต่นั่นต้องมีความรู้ที่ถูกต้องและแย้งกันด้วยข้อมูลบนพื้นฐานความเป็นจริง หากมองกันอย่างเปิดตาและเปิดใจ จะเห็นว่าการถกเถียงบนโลกออนไลน์คล้ายงานศิลปะที่ทำให้เรามองเห็นแถบสีของความคิดความต่างในแต่ละบุคคล การรู้เท่าทันตนเองว่ามีพื้นฐานความเชื่อความคิดเห็นอย่างไรและมีความต่างจากคนอื่นด้วยเหตุใด อาจช่วยลดอัตตาของตนเองให้น้อยลงและเปิดรับความเห็นต่างได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การตกผลึกทางความคิดที่จะเป็นประโยชน์ให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และเป็นแนวทางที่ช่วยให้คนไทยสามารถตั้งรับกับสภาพสังคมที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมและมีความแตกต่างขัดแย้งทางความเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การให้อภัยคือของขวัญแก่เพื่อนมนุษย์
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่อยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย ทั้งความเชื่อ ความคิด ภาษา และวัฒนธรรม ก็ย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการอยู่ร่วมกันที่อาจเกิดความไม่เข้าใจ อาจเกิดการละเมิดอธรรมต่อกัน หรือเกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการให้อภัยคือสิ่งเดียวที่จะทำให้สังคมมนุษย์น่าอยู่มากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่า “คนที่ให้อภัยก็มีความสุข และคนที่ได้รับการให้อภัยก็มีความสุขเช่นเดียวกัน”
ศาสนาอิสลามถือว่าการให้อภัยเป็นคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ นับเป็นผลพวงประการหนึ่งของความศรัทธาในอิสลาม ที่มีความประเสริฐมากมาย เมื่อการให้อภัยแผ่กระจายออกไปจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึก ส่งผลให้เกิดความรักและการเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ดังที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงยกย่องและชื่นชมผู้ที่ให้อภัยว่า พระองค์จะทรงรักเขา ดังที่ได้ทรงตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านว่า
فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاصْفَحْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ
ความว่า : "จงอภัยให้พวกเขาเถิด เเละจงละวาง (จากการถือโทษโกรธเคือง) พวกเขา
เเท้จริงอัลลอฮ์ ทรงรักบรรดาผู้ประพฤตดี" (บทอัลมาอิดะฮ์,โองการที่13)
ตัวอย่างของการให้อภัยของท่านนะบีย์มูฮำหมัด ﷺ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีที่ 10 ของการถูกแต่งตั้งเป็นรอซู้ล นับเป็นปีแห่งความโศกเศร้าของท่าน เนื่องจากพระนางคอดีญะฮ์ ผู้เป็นภรรยาและอบูตอลิบ ผู้เป็นลุงที่ได้ให้การอุปการะเสียชีวิตลง
หลังจากนั้น จึงทำให้พวกกุเรชได้ทำร้ายและขัดขวางท่านหนักข้อมากขึ้น ท่านนบีจึงพยายามเดินทางไปยังเมืองฏออีฟ เพื่อให้ชาวเมืองนี้ช่วยเหลือท่าน แต่กลับพบว่า พวกเขาพยายามทำร้ายท่านอย่างแสนสาหัสหนักหนายิ่งกว่าชาวมักกะฮ์เสียอีก
ท่านเดินทางมาเพื่อเผยแผ่ศาสนา เรียกร้องเชิญชวนผู้คนสู่การศรัทธาต่อเอกภาพในการเชื่อมั่นในพระเจ้าองค์เดียว ท่านนะบีย์มูฮำหมัด ﷺ ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สุด คือถูกกลั่นแกล้งอย่างหนักหน่วง พวกเขามิใช่เพียงไม่ยอมรับ ซ้ำยังปฏิเสธต่อสิ่งดังกล่าว พูดจาถากถาง ด้วยถ้อยคำหยาบคาย พร้อมทั้งโห่ไล่ท่านและขว้างปาด้วยก้อนหินใส่ท่านนบี จนศีรษะแตกเลือดโทรมกาย ท่านเดินไปบนถนนด้วยความโซซัดโซเซ เจ็บปวด หมดเรียวแรงและในที่สุดท่านนบี ก็ได้ล้มลง
ท่านญิบรีล (ทูตสวรรค์) ได้มาหาท่านแล้วกล่าวว่า : “โอ้มุฮัมมัดเอ๋ย หากท่านต้องการที่จะจัดการกับพวกนี้ ข้าจะทำลายพวกนี้อย่างราบคาบ แท้จริง อัลลอฮ์ทรงได้ยินคำพูดของกลุ่มชนของท่านแล้ว และทราบดีถึงสิ่งที่พวกเขาตอบโต้ท่าน และพระองค์ส่งฉันมายังท่านแล้ว เพื่อที่จะให้ท่านแก้แค้นได้ตามท่านต้องการ” ท่านนะบีย์มูฮำหมัด ﷺ ทรงตอบว่า : “ฉันหวังให้อัลลอฮ์ นำเขาออกมาจากความหลงผิดและสู่การทำอิบาดะห์แด่พระองค์เพียงผู้เดียว โดยไม่ตั้งภาคีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด”
ด้วยความอดทนและความอ่อนโยนของท่าน ท่านกลับให้อภัยไม่แสดงออกถึงความโกรธเคืองต่อผู้คนที่ทำร้ายท่าน อีกทั้งท่านยังขอดุอา(การขอพร)ให้พระเจ้า ทรงยกโทษให้กับพวกเขาและขอดุอาให้พวกเขาเข้ารับอิสลาม
ต่อมาชาวเมืองนี้ได้ประจักษ์ถึงความอดทน มารยาทอันดีงาม และการให้อภัยของท่าน
ในที่สุดพระเจ้าทรงตอบรับดุอา (การขอพร) ทำให้ชาวเมืองนี้เข้ารับอิสลาม
และอีกหนึ่งตัวอย่างของการให้อภัย คือการให้อภัยครั้งยิ่งใหญ่ของ ดร.สมบัติ จิตต์หมวด ที่ได้กล่าวขึ้นกลางศาลของรัฐเคนทักกี ในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 2017 ในระหว่างการอ่านคำพิพากษาบุคคลที่ฆ่าลูกชายเขา
(BBC News ไทย, 2017) คุณฐิติพล ปัญญาลิมปนันท์ ผู้สัมภาษณ์ ดร.สมบัติ จิตต์หมวด โจทก์ในคดีนี้ ได้กล่าวว่า “การยกโทษให้กับผู้ที่ฆ่าลูกชายของเขานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เกิดจากศรัทธาในศาสนาอิสลาม ความตั้งใจของคนในครอบครัว และจิตวิญญาณความเป็นครูตลอดชีวิตการทำงาน”
และยังได้กล่าวอีกว่า “ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน ปี 2015 จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน ปี 2017 นับเป็นเวลาประมาณ 2 ปี 7 เดือนที่สมาชิกครอบครัวจิตต์หมวดเฝ้ารอคอยความยุติธรรม มันเป็นธรรมดานะครับกับความเศร้าโศกเสียใจของผมและครอบครัวที่มีขึ้น เนื่องจากการสูญเสียลูกชายที่รักไปอย่างกระทันหัน แต่เราไม่โกรธเลยนะ ถึงสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น เราจะทำให้สิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับซาลาฮุดดีนนี้ ส่งผลในแง่บวกมากกว่าที่จะเป็นในทางลบและเราจะให้อภัยเขา”
และช่วงสุดท้ายของการอ่านคำพิพากษา ดร.สมบัติ จิตต์หมวด ได้เห็นน้ำตาของนักโทษ ก่อนที่จะเดินเข้าไปจับมือสวมกอดและได้พูดกับเขาว่า : “ผมโกรธมารร้ายที่นำพาและชักนำคุณให้ทำอาชญากรรมที่น่ากลัวนี้ ผมไม่โทษคุณ ผมไม่โกรธคุณ ผมให้อภัยคุณ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไรนะ ไม่ต้องเสียใจ เพราะว่าคุณพลาดไป แต่คุณมีโอกาสจะมีชีวิตต่อไป ขอให้คุณทำคุณงามความดี และขอให้คุณคิดถึงพระเจ้ามาก ๆ ”
จากกรณีการให้อภัยแก่ผู้ที่พรากชีวิตลูกสุดที่รักไปของ ดร.สมบัติ จิตต์หมวด แสดงให้เห็นถึงบทบาทคำสอนของศาสนา ที่หล่อหลอมจิตใจ จนสามารถขับเคลื่อนให้คน ๆ หนึ่งทำสิ่งที่เชื่อว่ามีมนุษย์เพียงไม่กี่คนจะทำได้ นั่นคือ การให้อภัยแก่คนที่ฆ่าลูกตัวเอง สิ่งนี้ทำให้ผู้คนได้เห็นว่าคำสอนศาสนาที่ได้กลมกลืน เป็นระบบระเบียบในการดำรงชีวิต สามารถสร้างสิ่งที่สวยงามจรรโลงสังคมนี้ได้อย่างไร
จากเหตุการณ์ทั้งสองนี้ เราจะเห็นได้ว่า สิ่งที่จะเอาชนะ“ความเกลียดชัง” ได้ ก็คือ “การให้อภัย”
ในขณะที่เขามีอำนาจที่จะทำการแก้แค้นเอาคืนจากผู้ที่กระทำไม่ดีหรือละเมิดสิทธิของเขาได้ แต่เขากลับไม่ถือโทษและให้อภัย สิ่งนี้คือของขวัญที่เขาให้กับตนเองและให้กับบุคคลนั้น
มนุษย์ย่อมมีการคาดหวังว่าผู้อื่นจะไม่ถือโทษและให้อภัยในความผิดของตน หรือให้โอกาสที่จะชดเชยและแก้ไขปรับปรุงความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า สิ่งนี้คือธรรมชาติที่มีอยู่ในมนุษย์ดังนั้นการให้อภัยจึงต้องเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อน ด้วยการไม่ถือโทษ ให้อภัย และยับยั้งตนจากการคิดแก้แค้นหรือตอบโต้ ความผิดพลาดต่าง ๆ ของผู้อื่น ผู้เขียนเห็นว่า การดำเนินชีวิตในสังคมโดยการไม่ถือโทษ การมองข้ามความผิดพลาดและการให้อภัยต่อกัน เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยกับคุณธรรมดังกล่าวนี้จะทำให้ดวงใจทั้งหลาย เกิดความใกล้ชิดต่อกันมากยิ่งขึ้น
และพระผู้เป็นเจ้าก็จะทรงตอบแทนผลรางวัลทางจิตวิญญาณแก่เรา และผู้ใดก็ตามที่ให้อภัยและไม่ถือโทษความผิดพลาดของผู้อื่น พระผู้เป็นเจ้าก็จะทรงเมตตาและจะทรงให้อภัยความผิดบาปของเขาด้วยเช่นกัน “จงให้อภัยแก่ผู้อื่น แล้วอัลลอฮ์จะทรงให้อภัยแก่เรา”
ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด ไม่ใช่คนที่มีพลังร่างกายเยอะ แต่คือคนที่สามารถระงับอารมณ์ความโกรธในขณะที่เขาสามารถระบายความโกรธนั้นออกมาได้
วิถีแห่งทางสายกลาง
หลักทางสายกลาง ก็คือหลักที่ตั้งอยู่ระหว่างความสมดุล ของความสุดโต่งกับความหย่อนยาน กล่าวได้ว่าคือหลักทางธรรมชาติที่มีลักษณะของความสมดุลในตัวของมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสมดุลระหว่างจิตวิญญาณกับด้านวัตถุ โลกอาคิเราะฮ์กับโลกดุนยา จิตใจกับร่างกาย และระหว่างความคงที่กับความเปลี่ยนแปลง
อิสลามได้มีคำสอนถึงหลักทางสายกลางเอาไว้และทรงมีท่านนะบีย์มุฮัมมัด ﷺ เป็นแบบอย่างในการดำเนินวิถีชีวิต โดยการอธิบายคำสอนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้มนุษย์นำมาเป็นตัวอย่างในการปฎิบัติตาม ดังพระองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ﷻ ทรงตรัสว่า
وَكَذَٰلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا لِّتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيدًا
ความว่า : “และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าทั้งหลายเป็นประชาชาติสายกลาง เพื่อว่าเจ้าทั้งหลายจะได้เป็นสักขีพยานแก่มวลมนุษย์ และศาสนทูต(มูฮัมมัด) ก็จะเป็นสักขีพยานแก่พวกเจ้า” (บทอัลบากอเราะห์ ,โองการที่ 143)
และท่านนะบีย์มูฮำหมัด ﷺ ทรงกล่าวว่า
خَيْرُ الأُمُوْرِ أَوْسَطُهَا
ความว่า : “ที่ดีที่สุดของกิจการทั้งหลายคือ ตรงกลางของมัน” (รายงานโดยอิบนุ อัสสัมอานีย์-ฎ่ออีฟ)
ท่านอิบนุญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์ ท่านได้อธิบายความหมายเพิ่มเติม ในหนังสือ (อัฏเฏาะบะรีย์, ญามิอฺ อัลบะยาน เล่ม 2 หน้า 338) คำว่า “วะสะฏอ” หมายถึง “ความปานกลางของความไม่มากไป หรือน้อยไปจากขอบเขตที่แท้จริง” และท่านกล่าวอีกว่า “ฉันเห็นว่า การที่อัลลอฮฺทรงเรียกขานประชาชาติ ท่านนะบีมุฮัมมัด ﷺ ด้วยกับคำว่า “อุมมะตัน วะสะฏอ” นั้น เนื่องจากว่า การงาน ที่อัลลอฮฺทรงชอบที่สุด คือความปานกลางและความพอดี "
ฉะนั้น ทางสายกลางคือความพอเพียง และความพอเพียงก็คือ ความพอประมาณ ซึ่งหมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากจนเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
หากจะกล่าวถึงความพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิต เอาไว้แก่พสกนิกรของพระองค์ ไว้ 5 ประการ และหนึ่งในนั้นคือ “การยึดถือความประหยัด” ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้านลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
จะเห็นได้ว่า แนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางเอาไว้ มีความสอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ซึ่งมีปรากฏอย่างชัดเจน เช่น การประหยัด คือ ใช้จ่ายแต่พอควรแก่ฐานะ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ
ดังพระองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ﷻ ทรงตรัสว่า
وَكُلُواْ وَاشْرَبُواْ وَلاَ تُسْرِفُواْ إِنَّهُ لاَ يُحِبُّ الْمُسْرِفِينَ
ความว่า : “และพวกสูเจ้าจงกินและจงดื่ม และพวกสูเจ้าอย่าได้สุรุ่ยสุร่าย แท้จริงพระองค์มิทรงรักบรรดาผู้ที่สุรุ่ยสุร่าย” ( บทอัลอะอฺรอฟ, โองการที่ 31)
โองการนี้ชี้ถึงความพอดีในการใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิต ลดความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต อิสลามถือว่าความฟุ่มเฟือยและความสุรุ่ยสุร่ายเป็นลักษณะของกลุ่มชนที่สังกัดตามแนวทางของมารร้าย
ดังพระองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ﷻ ทรงตรัสว่า
إِنَّ الْمُبَذِّرِينَ كَانُواْ إِخْوَانَ الشَّيَاطِينِ وَكَانَ الشَّيْطَانُ لِرَبِّهِ كَفُورًا
ความว่า : “แท้จริงบรรดาผู้ที่สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยในการใช้จ่ายนั้นพวกเขาเป็นพี่น้องกับเหล่ามารร้าย และมารร้ายนั้นมันเนรคุณต่อพระผู้อภิบาลของมัน” (บทอัลอิสรออฺ, โองการที่ 27)
นักอรรถาธิบายอัลกุรฺอานกล่าวว่า ความฟุ่มเฟือยและความสุรุ่ยสุร่ายที่อัลกุรฺอานประนามก็คือการใช้จ่ายไปในสิ่งที่มิได้เป็นไปเพื่อการภักดีต่อพระเจ้า ตลอดจนการใช้จ่ายไปในสิ่งที่ศาสนาอนุมัติให้แต่เกินความจำเป็นและไร้ประโยชน์
จึงกล่าวได้ว่า แนวพระราชดําริเกี่ยวกับ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสอดคล้องกับคำสอนของอิสลามและจริยวัตรของบรมศาสดามุฮัมมัด ﷺ ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า ท่านนะบีมุฮัมมัด ﷺ เป็นแบบฉบับแห่งความพอเพียงอย่างแท้จริง
อิสลามนั้นมีมาพร้อมกับคำตอบ เป็นแผนที่การเดินทางเพื่อให้มนุษย์ ได้ดำเนินวิถีชีวิตอย่างถูกต้อง ในหลักทางสายกลางเพื่อให้เราไปถึงจุดหมายอย่างสวยงาม
ทางสายกลางเป็นทางหนึ่งในโลกนี้ ทุกชีวีล้วนต้องมีเส้นทางหวัง
ทางสายกลางเป็นทางหนึ่งแห่งสัจธรรม จะมุ่งนำตามนบีวิถีอิสลาม
การให้ คือการได้รับที่ไม่สิ้นสุด
มนุษย์นั้นถูกสร้างมาในสภาพที่อ่อนแอ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่มีมนุษย์คนใดที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเพียงคนเดียว แต่มนุษย์นั้นจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อดำรงชีวิต นับตั้งแต่เราเกิดจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือระหว่างมนุษย์นั้นถือเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่หากสังคมใดขาดแคลน หรือไร้ซึ่งการให้ความช่วยเหลือต่อกัน แน่นอนสังคมนั้นย่อมล้าหลังและจะเกิดความเสียหายต่าง ๆ ตามมาในไม่ช้าเพราะคนส่วนใหญ่มักคิดว่าการให้เป็นสิ่งที่ขาดทุน แต่ความจริงการให้ จะนำมาซึ่งความสุขทางด้านจิตวิญญาณแก่ทุกฝ่ายทั้งผู้ให้และผู้รับ
ดังนั้นศาสนาอิสลามจึงได้กำชับแก่บรรดาผู้ศรัทธา ให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือต่อกัน เพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง ให้แก่ผู้อื่น ให้แก่ผู้คนในสังคมทั้งหมดและการให้ความช่วยเหลือต่อกันนั้นไม่เพียงสร้างความสุขแก่ชีวิตในโลกนี้เท่านั้นแต่จะนำไปสู่การได้รับความสุขในชีวิตแห่งโลกอันถาวรด้วย เพราะการให้ความช่วยเหลือนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรมความดีและพระองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ﷻ ทรงยืนยันว่า ความดีนั้นทำให้เกิดความสุข ผู้ที่ทำความดีนั้นย่อมอยู่ในความโปรดปรานของอัลลอฮฺในวันกิยามะห์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า
وَتَعَاوَنُواْ عَلَى الْبَرِّ وَالتَّقْوَى وَلاَ تَعَاوَنُواْ عَلَى الإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ
ความว่า : “และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง
และจงอย่าช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน” (บทอัลมาอิดะห์,โองการที่ 2)
หากจะพูดถึงการให้ ทุกคนต่างก็คงทราบกันดีว่า การให้สามารถที่จะกระทำได้ในหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล เช่น การให้ด้านทรัพย์สินเงินทอง อาหาร ความรู้ เวลา การให้ด้านแรงกายและแรงใจ หรือเรียกว่าการเป็นจิตอาสา นั้นเอง
จิตอาสา (Volunteer Spirit) ความหมายของตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของ “จิตอาสา” ดังนี้ “จิต” เป็นคำนาม หมายถึง ใจ สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิด และนึก “อาสา” เป็นคำกริยาหมายถึง เสนอตัวเข้ารับทำ
ดังนั้น “จิตอาสา” จึงหมายถึง จิตแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์โดยเต็มใจสมัครใจอิ่มใจ ซาบซึ้งใจ ปีติสุข ที่พร้อมจะเสียสละเวลา แรงกาย แรงสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ในการทำกิจกรรมหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน และมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดายเมื่อพบเห็นปัญหาหรือความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดีและเห็นน้ำตาเปลี่ยนแปลงเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย “บุญ” คือความสงบเยือกเย็น และพลังแห่งความดี อีกทั้งยังช่วยลด “อัตตา” หรือความเป็นตัวตนของตนเองลงได้
บุคคลที่ทรงเป็นตัวอย่างของการเป็นจิตอาสาในปัจจุบัน คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับงานจิตอาสามากมาย อาทิเช่น โครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ตามพระราโชบาย หมายถึง ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในและต่างประเทศที่สมัครใจช่วยเหลือผู้อื่นยอมเสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ และสติปัญญาใน การทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ
เนื่องจากพระองค์ท่านทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึง ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ และทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้ประชาชนและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยราชการต่าง ๆ และประชาชนทุกหมู่เหล่ที่มีจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชน ปัญหาการจราจร และอื่น ๆ และมีกิจกรรมช่วยเหลือสังคมส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์การช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่า ติดถ้ำหลวง จ.เชียงราย นอกเหนือจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพระราชทานกำลังใจไปยังครอบครัวผู้ประสบภัยทุกคนแล้ว บรรดาอาสาสมัครในโครงการจิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ ได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลืออย่างเต็มที่
เหตุการณ์นี้สอนให้เราทราบว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือร่วมใจ ซึ่งนั่นก็คือ “จิตอาสา” นั่นเอง นี่คือความงดงามของการ “ทำความดีด้วยหัวใจ”
ดังคำกล่าวจากท่านนะบีย์มูฮำหมัด ﷺ ที่ทรงได้กล่าวว่า
خَيْرُ النَّاسِ أَنْفَعُهُمْ لِلنَّاسِ
ความว่า : “ มนุษย์ที่ดีนั้นคือมนุษย์ที่ทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ” (บันทึกโดยท่านอิหม่ามอัฏฏ็อบรอนีย์)
ผู้เขียนคิดว่าการเป็นจิตอาสา สามารถกระทำได้ไม่ยากนัก หากเรามาช่วยกันรณรงค์ให้สังคมของเรา เริ่มตระหนักในความเสียสละและความมีน้ำใจให้มากขึ้น แน่นอนสังคมของเราก็จะมีแต่ความสงบสุข“จงสร้างจิตอาสา” ให้ตนเอง ครอบครัว สังคม และมนุษยชาติ ด้วยการนำวิถีแห่ง “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ไปอยู่ในวิถีชีวิต
สุดท้ายนี้ ศาสนาอิสลามไม่ได้เป็นพียงแค่ศาสนา แต่ศาสนาอิสลามเป็นระบอบของการดำเนินชีวิต มีคําสอนเชิงให้ทางออกแก่มวลมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ เป็นระเบียบวินัยที่ครอบคลุมทุกย่างก้าวของชีวิตทั้งในด้านความคิดและความประพฤติ โดยเริ่มจาก “หัวใจ” ที่ซึมซับแต่สิ่งดีงามเป็น “จิตภาพ” และพยายามปลูกจิตสํานึกให้เข้าถึงแก่นแท้แห่งชีวิต เพื่อแสดงออกทาง “กายภาพ” ด้วยการปฏิบัติที่เคร่งครัด สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อองค์อัลลอฮ์เพียงองค์เดียวเท่านั่น
ดังนั้น อิสลามได้สอดคล้องถึงการแสดงออกด้วยหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันและหลักศรัทธาไปสู่การภักดีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างแนบแน่น อันกล่าวเปรียบเทียบศาสนาอิสลามได้ว่า เป็นแสงสว่างที่ทำให้มองเห็นหนทางในการดำเนินชีวิตได้
อ้างอิง
สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ. 2541. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานพร้อมความหมายภาษาไทย. แปลโดยสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ. ซาอุดิอาราเบีย: ศูนย์กษัตริย์ฟาฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน.
สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ. 2543. คำอธิบายหะดีษ อัรบะอีน อันนะวะวียะฮฺ. แปลโดยสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ. กรุงเทพฯ: สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ
อาจารย์อรุณ บุญชม. 2558. ฮะดีษเศาะฮีฮฺ บุคอรี อัลญามิอ์ อัศศอเฮียะห์. กรุงเทพฯ: บริษัทเฟิสท์ ออฟเซท(1993) จำกัด.
อิมามบุคอรี, ดร. มุฮัมมัด มุฮฺซิน คาน. ฮะดีษเศาะฮีฮฺ อัลบุคอรี. แปลโดย อาจารย์บรรจง บินกาซัน. กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสืออิสลาม,2560
BBC News ไทย. (2017). เปิดใจครูอิสลามไทยผู้ให้อภัยมือวางแผนฆ่าลูกชาย, สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2564. จาก. https://www.bbc.com/thai/thailand-42233215
[1] คำภาษาอาหรับ ﷻ อ่านว่า “ญัลลลา ยาลาลุฮฺ” มีความหมายว่า “พระองค์ทรงสูงส่งยิ่ง” เป็นคำที่มุสลิมใช้ในการกล่าวยกย่องและสรรเสริญอัลลอฮฺ หลังจากที่เอ่ยนามพระองค์
[2] คำภาษาอาหรับ ﷺ อ่านว่า “ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม” มีความหมายว่า “ขอพระองค์ทรงประทานความโปรดปรานและความสันติแด่ท่าน” เป็นคำที่มุสลิมใช้กล่าวยกย่องศาสดามูฮำหมัด หลังจากที่เอ่ยนามพระองค์
Office Hours : Sun - Thu, 09.00 hrs. - 16.00 hrs.