วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ม.ค. 2566

| 4,392 view

เกี่ยวกับเมืองเจดดาห์

Picture1

ประตูมักกะห์ (Baab Makkah) (ที่มา welcomesaudi.com)


เมืองเจดดาห์ตั้งอยู่ในมณฑลมักกะห์ (Makkah Region) ทางฝั่งตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย อยู่ติดชายฝั่งทะเลแดง (Red Sea) เป็นเมืองเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ที่คาดว่ามีการตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล และด้วยภูมิศาสตร์ของเมืองที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล ทำให้คอลีฟะห์อุซมาน บินอัฟฟาน (ผู้นำอาณาจักรอิสลามคนที่ 3 ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 6) เริ่มพัฒนาเมืองเจดดาห์ให้มีความสำคัญขึ้นในฐานะประตูแห่งเมืองมักกะห์ อัลมุกัรรอมะห์ (Makkah Al Mukarramah City) ซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาอิสลาม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเจดดาห์ ประมาณ 80 กิโลเมตร รวมทั้งเป็นประตูสู่เมืองอัลมาดีนะห์ อัลมุเนาว์วะเราะห์ (Al Medina Al Munawwarah City) ซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์อันดับที่ 2 ในศาสนาอิสลาม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเจดดาห์ ประมาณ 400 กิโลเมตร

Picture2

เขตเมืองเก่า (Al Balad) (ที่มา researchgate.net)

ในอดีต ผู้แสงบุญฮัจย์ชาวมุสลิมจากทั่วโลกจะเดินทางโดยเรือเดินสมุทรมาเทียบท่าที่เมืองเจดดาห์ และพักแรมอยู่ที่เขตเมืองเก่าล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อรอเวลาการประกอบพิธีฮัจย์ที่มีกำหนดตายตัวในเดือนซุลฮิจยะฮ์ (Dhul Hijjah) หรือเดินที่ 12 ตามปีปฏิทินจันทรคติของศาสนาอิสลาม และแม้ว่าในปัจจุบันผู้คนจะหันมาใช้การเดินทางทางอากาศแล้วก็ตาม แต่ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมจากทั่วโลกก็ยังนิยมโดยสารเครื่องบินมายังเมืองเจดดาห์ก่อนเฉกเช่นเดียวกับในอดีต ทำให้เมืองเจดดาห์กลายเป็นศูนย์กลางการเดินทาง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การค้า ฯลฯ มาจนถึงปัจจุบัน

ด้านการเมือง

ราชวงศ์อัลซาอูดสถาปนากรุงริยาดให้เป็นเมืองหลวงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) อย่างไรก็ดี จากการที่เมืองเจดดาห์เป็นประตูสู่เมืองศักดิ์สิทธิ์ ราชวงศ์อัลซาอูดจึงเลือกเมืองเจดดาห์ให้เป็นศูนย์กลางในการบริหารราชการและเป็นเมืองหลวงทางการทูตที่สถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่าง ๆ ตั้งอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับตำแหน่งทางการที่พระมหากษัตริย์ของซาอุดีฯ เรียกตนเองว่าเป็นผู้พิทักษ์มัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง (Custodian of the Two Holy Mosques) โดยนอกจากเมืองเจดดาห์แล้ว ในอดีตราชวงศ์อัลซาอูดมักจะแปรพระราชฐานในช่วงฤดูหนาวไปบริหารราชการที่เมืองตาอีฟ ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูงทางทิศตะวันออกของเมืองมักกะห์ฯ และมีสภาพอากาศเย็นกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของซาอุดีฯ

ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา เมื่อซาอุดีฯ เริ่มมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกรุงริยาด ราชวงศ์อัลซาอูดจึงได้เริ่มให้ความสำคัญกับกรุงริยาดในฐานะเมืองหลวงที่แท้จริงมากขึ้น มีการย้ายสถานเอกอัครราชทูตของต่างประเทศจากเมืองเจดดาห์ไปยังกรุงริยาดในช่วงดังกล่าว (รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตของไทย) และเกิดธรรมเนียมการบริหารราชการครึ่งปีที่กรุงริยาดและอีกครึ่งปีในช่วงฤดูร้อนที่เมืองเจดดาห์ซึ่งในระยะปัจจุบันธรรมเนียมดังกล่าวได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปโดยกษัตริย์ซาอุดีฯ จะประทับที่กรุงริยาดเป็นระยะเวลานานขึ้น และจะแปรพระราชฐานมายังเมืองเจดดาห์หรือเมืองมักกะห์เฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9 ตามปีปฏิทินจันทรคติของอิสลาม) และในช่วงเทศกาลฮัจย์เป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน

นอกจากนี้ เมืองเจดดาห์ยังเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation - OIC) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากสหประชาชาติ (United Nations - UN) และใหญ่ที่สุดของโลกมุสลิม มีสมาชิกรวม 57 ประเทศ  ก่อตั้งขึ้นวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) รวมทั้งองค์กรย่อยอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ OIC เช่น ธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนา (Islamic Development Bank - IsDB) ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ หรือ Observer ใน OIC มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541)

Picture3

สำนักเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (ที่มา Saudi Gazette)

 

ด้านการค้า

เมืองเจดดาห์เป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 2 ของซาอุดีฯ ประมาณ 4 – 4.5 ล้านคน และหากนับรวมมณฑลต่าง ๆ ในภาคตะวันตกจะมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ[1] และเมืองมักกะห์ฯ และเมืองมาดีนะห์ฯ เป็นเมืองที่มีผู้แสวงบุญเดินทางมาเป็นจำนวนมากกว่า 21 ล้านคน[2] ต่อปี จึงทำให้มีอุปสงค์ด้านสินค้าอุปโภคและบริโภคจำนวนมาก โดยเมืองเจดดาห์เป็นที่ตั้งของท่าเรือสินค้า Jeddah Islamic Port ซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคตะวันออกกลาง รองจากท่าเรือ Jebel Ali ที่เมืองดูไบของยูเออี

Picture4

Jeddah Islamic Port (ที่มา Saudi Gazette)

ด้านอุตสาหกรรม

ตอนใต้ของเมืองเจดดาห์เป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรม 3 เขต คิดเป็นพื้นที่ที่พัฒนาแล้วรวม 44 ล้าน ตารางเมตร มีโรงงานอุตสาหกรรมรวมจำนวน 1,873 แห่ง นอกจากนี้ เมือง King Abdullah Economic City (KAEC) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือห่างจากเมืองเจดดาห์ประมาณ 120 กิโลเมตร ยังเป็นที่ตั้งของ Industrial Valley ขนาด 50 ล้านตารางเมตร โดยปัจจุบันมีบริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ในเขตดังกล่าว 116 แห่ง ทั้งนี้ แม้ว่าในระยะแรก KAEC จะประสบปัญหาการชะลอตัวของการเติบโต แต่ภายหลังจากที่ซาอุดีฯ ประกาศวิสัยทัศน์ Vision 2030 การลงทุนใน KAEC ก็กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง โดยเขตอุตสาหกรรมของเมืองเริ่มมีบริษัทยักษ์ใหญ่ประกาศแผนการลงทุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง อาทิ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Lucid ซึ่ง Public Investment Fund (PIF) ของซาอุดีฯ ถือหุ้น ประกาศตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใน KAEC โดยมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 150,000 คันต่อปี และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า Ceer ซึ่ง PIF ถือหุ้นร่วมกับบริษัท Hon Hai Precision Industry Co. ก็ประกาศการลงทุนในลักษณะเดียวกันที่ KAEC เป็นต้น

Picture5
King Abdullah Economic City (ที่มา tripadvisor.com)

ด้านการท่องเที่ยวและกีฬา

เมืองเจดดาห์เป็นเมืองตากอากาศชายทะเล และเมืองมักกะห์ฯ เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมทั่วโลกเดินทางมาแสวงบุญ จึงทำให้มณฑลมักกะห์เป็นที่ตั้งของโรงแรมมากถึงร้อยละ 65.8 ของโรงแรมทั่วประเทศ ตามมาด้วยมณฑลมาดีนะห์ ซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่ 2 ที่มีโรงแรมมากถึงร้อยละ 17.2 ของทั้งประเทศ[3] โดยองค์กร Hospitality Insight คาดการณ์ว่า โรงแรมที่พักในเมืองมักกะห์ฯ จะเติบโตขึ้นอีกกว่า 19,000 ห้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายการรองรับผู้แสวงบุญให้ได้ 30 ล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2030

ในด้านกีฬา เมืองเจดดาห์เป็นสถานที่ใช้จัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกหลายรายการ อาทิ การแข่งขันกอล์ฟรายการ The Ladies European Tour  ที่ KAEC การแข่งขันรถยนต์ F1 โดยก่อสร้างสนามแข่งริมชายทะเลเมืองเจดดาห์ และการแข่งขันกอล์ฟรายการ LIV Tournament ซึ่งใช้สนามแข่งขันหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งที่ KAEC เป็นต้น

Picture6

LIV Golf Invitational Series Jeddah (Getty Images)  

Picture7    

สนามแข่ง Formula 1 เมืองเจดดาห์ (ที่มา Arab News)

ด้านการบิน

เมืองเจดดาห์เป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติ King Abdulaziz International Airport ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของซาอุดีฯ ในปัจจุบัน โดยเมื่อปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ได้มีการเปิดตัวอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ (Terminal 1) ซึ่งปัจจุบันรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี โดยภายในปี ค.ศ. 2030 ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้โดยสารขึ้นเป็น 80 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ เมืองเจดดาห์ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของสายการบินแห่งชาติ Saudi Arabian Airline (Saudia) ซึ่งเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันของซาอุดีฯ มีฝูงบินจำนวน 145 ลำ ทำการบินรับส่งผู้โดยสารปีละกว่า 33.9 ล้านคน ไปยัง 95 จุดหมายปลายทางใน 37 ประเทศทั่วโลก

ปัจจุบัน มีสายการบินที่ให้บริการบินตรงเส้นทางเมืองเจดดาห์ – กรุงเทพฯ  2 สายการบิน ได้แก่ สายการบิน Saudia ทำการบิน 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ และสายการบินไทย ทำการบิน 5 เที่ยวต่อสัปดาห์

อนึ่ง เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ทางการซาอุดีฯ เพิ่งจะเปิดตัวโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ของกรุงริยาด King Salman International Airport ซึ่งตั้งเป้ารองรับผู้โดยสารสูงสุด 120 ล้านคนต่อปีภายในปี ค.ศ. 2030 และเพิ่มเป็น 185 ล้านคนต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยเป็นการดำเนินการควบคู่กับการก่อตั้งสายการบินแห่งชาติสายการบินใหม่ (RIA) ซึ่งหากเป็นไปตามแผน กรุงริยาดจะกลายมาเป็นศูนย์กลางทางการบินแห่งใหม่ของซาอุดีฯ ในอนาคต

Picture8

King Abdulaziz International Airport (ที่มา jeddaharena.com)

 

*         *         *         *         *

 

[1] หากนับเฉพาะมณฑลที่อยู่ติดกับมณฑลมักกะห์แล้ว ภาคตะวันตกของซาอุดีฯ จะมีประชากรรวมกันกว่า 14.4 ล้านคน ดังนี้ มณฑลมักกะห์ 9.26 ล้านคน มณฑลอาซิร 2.35 ล้านคน มณฑลมาดีนะห์ 2.29 ล้านคน และมณฑลอัลบาฮาร์ 0.5 ล้านคน (ข้อมูลจาก Knoema)

[2] ข้อมูลจาก General Authority for Statistic ของซาอุดีฯ ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2019 (ก่อนโควิด-19) มีผู้แสวงบุญอุมเราะห์ทั้งในและต่างประเทศรวม 19,158,031 คน ในจำนวนนี้ มาจากต่างประเทศจำนวน 7,457,663 คน ขณะที่ผู้แสวงบุญฮัจย์ในปีเดียวกันมีจำนวน 2,489,406 คน ในจำนวนนี้มาจากต่างประเทศจำนวน 1,855,027 คน

[3] ข้อมูลปี ค.ศ. 2019 จาก Ministry of Tourism and its Tourism Information Research (MAS) Center