บทความชนะเลิศ โครงการประกวดบทความฯ ปี 2565 หัวข้อ "บทบาทของนักศึกษาไทยในซาอุดีอาระเบียในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต"

บทความชนะเลิศ โครงการประกวดบทความฯ ปี 2565 หัวข้อ "บทบาทของนักศึกษาไทยในซาอุดีอาระเบียในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต"

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 ต.ค. 2565

| 2,236 view

บทความชนะเลิศอันดับที่ 1
โครงการประกวดบทความเพื่อส่งเสริมทักษะทางวิชาการ ประจำ ปี 2565
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ 
ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร 

หัวข้อ "บทบาทของนักศึกษาไทยในซาอุดีอาระเบีย ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย 
ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต" 

ผู้เขียน นายสักการียา ตะฮาวัน นักศึกษามหาวิทยาลัยอัลกอศีม ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

เผยแพร่ในวารสารมุสลิม กทม. News เล่มที่ 66 เดือนกันยายน-ตุลาคม 2565

ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศในตะวันออกกลางที่มีอำนาจและบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ของกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ
(Gulf Cooperation Council: GCC) ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน ซึ่งถือว่ามี
ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทุก ๆ ประเทศในโลกใบนี้ ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับความสัมพันธ์
ระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นสองประเทศที่เคยมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นเป็นอย่างดีเฉกเช่นอดีตกาล
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สร้างความแตกร้าวที่ทำให้ทั้งสองประเทศต้องสูญเสียผลประโยชน์ระหว่างกันตลอดระยะเวลามากกว่า
30 ปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ โดยเฉพาะด้านการส่งออกแรงงานคุณภาพจากไทยไป
ยังซาอุดีอาระเบียที่เคยมีมากถึงสองแสนคน กลับเหลือเพียงไม่กี่พันคน [1] ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดและต้องการให้เกิดขึ้น

กระทั่งวันที่ 25-26 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เป็นข่าวที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับการกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอีกครั้ง
ระหว่างสองประเทศ หลังการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ จาก
ประเทศไทย [2] ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ
โดยให้ความสำคัญในด้านตลาดแรงงาน และธุรกิจการส่งออกสินค้าของไทย ที่จะกลับมามีบทบาทในตลาดซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง
อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้กลับมาแน่นแฟ้นเหมือนในอดีต ซึ่งข้อความที่
กล่าวมาข้างต้นต้องอาศัยระยะเวลาและปัจจัยต่าง ๆ มากมาย และหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่จะเป็นตัวเร่งของความสัมพันธ์ คือ
นักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่จะต้องมีบทบาทในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครั้งนี้ ทั้งนี้ ผู้เขียนขอ
นำเสนอแนวทางที่นักศึกษาสามารถนำไปใช้ได้จริง ดังนี้

1. ด้านเศรษฐกิจ : หากพูดถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ นักศึกษาหลายคนอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัว
หรือเกินความสามารถของตัวเอง หากแต่เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วจะพบว่า ความโดดเด่นที่เราสามารถสัมผัสได้จากทั้งสองประเทศ
คือธุรกิจการค้าขายที่มีความโดดเด่นแตกต่างกัน ทั้งด้านการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ โดยสิ่งที่นักศึกษา
สามารถทำได้มีหลายประการ เช่น การเป็นล่ามแปลภาษาอาหรับ-ไทย เพื่อเจรจาข้อตกลงทางธุรกิจ ซึ่งถือเป็นสื่อกลางในการส่ง
เสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างสองประเทศ อีกทั้งนักศึกษายังได้ฝึกฝนการใช้ภาษาอาหรับทางธุรกิจ และเป็น
ประสบการณ์ที่จะสามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้

2. ด้านสังคมและวัฒนธรรม : แน่นอน ประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย เป็นสองประเทศที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้าน
ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม แต่บนความแตกต่างเหล่านี้ย่อมมีจุดร่วมที่เหมือนกัน คือ
การยอมรับว่าสังคมที่น่าอยู่นั้น เริ่มมาจากการเป็นคนดี โดยสิ่งที่นักศึกษาควรตระหนักคือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยให้ผู้คนได้ประจักษ์ถึงอัตลักษณ์ที่ดีงามของคนไทย เช่น การยิ้มแย้ม การมีมารยาทที่ดีและให้เกียรติระหว่างเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน การนำ
เสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมในงานนิทรรศการต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ซึ่งในส่วนนี้นักศึกษาสามารถเป็นทั้งผู้ให้
และผู้รับได้ในเวลาเดียวกัน จนเกิดเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างผู้คนทั้งสอง
ประเทศ

3. ด้านศาสนาและการศึกษา : สิ่งที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศรายใหญ่ที่อุปถัมภ์ดูแลมุสลิม
ทั่วทุกมุมโลก แม้กระทั่งมุสลิมในประเทศไทย ที่ซาอุดีอาระเบียคอยช่วยเหลือ ทั้งด้านงบประมาณในการทำนุบำรุงศาสนสถาน
การศึกษาของนักเรียนมุสลิมไทย และการสนับสนุนด้านวิชาการความรู้ อีกทั้งยังให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทย เพื่อศึกษาต่อ
ในระดับมหาวิทยาลัยของประเทศซาอุดีอาระเบียมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ
นวัตกรรมทางด้านพลังงาน ฯลฯ [3] ในฐานะนักศึกษาจะต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้อยู่ในระดับแนวหน้า จนสามารถเกิดการ
แลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษา และสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งสองประเทศได้


4. ด้านการท่องเที่ยว : ประเทศไทยมีชื่อเสียงและความโดดเด่นทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่มี
ความสวยงาม อาหารที่อร่อยหลากหลาย และค่าครองชีพต่ำ จนเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
ที่จะต้องไปเยือนทุกครั้งในรอบหนึ่งปี แต่แตกต่างจากคนซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับประเทศไทยหรืออาจจะรับรู้
ข้อมูลในมุมมองที่ไม่ประทับใจมากนักจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่สิ่งที่นักศึกษาสามารถทำได้คือ การนำเสนอข้อเท็จจริงต่าง ๆ
เพื่อสร้างความเข้าใจ ความประทับใจ และเชิญชวนให้คนซาอุดีอาระเบียไปเยือนประเทศไทยมากขึ้น ในทางกลับกันประเทศ
ซาอุดีอาระเบียที่กำลังปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้พึ่งพารายได้จากน้ำมันน้อยลง และหันมาสร้างอุตสาหกรรมการ
ท่องเที่ยวให้เติบโตเพื่อเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยถือเป็นโอกาสดีเช่นกันที่นักศึกษาจะสามารถนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ของ
ประเทศซาอุดีอาระเบียให้คนไทยได้รู้จักในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นผ่านช่องทางสื่อสังคม (Social Media) จนสามารถส่ง
เสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศได้ในอนาคต

จากสารัตถะที่กล่าวมาข้างต้น หากเรามองย้อนกลับมาที่ครอบครัวของเรา ญาติพี่น้องของเรา หรือเพื่อนระหว่างชั้นเรียน
ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพวกเขาเหล่านั้นจะออกผลงอกงามที่ดีได้ ก็ด้วยกับความรักความห่วงใยที่มีให้ระหว่างกัน อีกทั้งยังต้อง
อาศัยระยะเวลาและความไว้เนื้อเชื่อใจ จนสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง ครอบครัวและสังคมภายนอกได้ ดังที่
มีรายงานจากท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ความว่า : “บุคคลหนึ่งบุคคลใด
ของพวกท่านจะยังไม่มีศรัทธาที่สมบูรณ์ จนกว่าเขาจะมีความปรารถนาให้พี่น้องของเขาได้รับ ในสิ่งที่ตัวของเขาเองปรารถนาที่
จะได้รับ” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม) [4]


ดังนั้น การที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบียให้ดีขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความรัก ความไว้วางใจ
และระยะเวลามากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นสำคัญคือ แรงขับเคลื่อนของนักศึกษาไทยในซาอุดีอาระเบีย ที่จะเป็น
สื่อกลางในการส่งเสริมความสัมพันธ์ จนสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งสองประเทศได้เป็นอเนกประการ ทั้งนี้ เมื่อวันเวลาผ่านไป
เราก็จะมีความภาคภูมิใจแห่งบทบาทของนักศึกษาไทยในซาอุดีอาระเบียที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเติมแต่งและรังสรรค์หอคอยแห่ง
ความสัมพันธ์นี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกคำรบหนึ่ง

___________________________
การอ้างอิงและแหล่งที่มาของข้อมูล
[1] ไทย-ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”
โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ , สถาบันเอเชียศึกษา www.ias.chula.ac.th
[2],[3] ซาอุดีอาระเบีย: กต. เร่งแต่งตั้งทูตไทย-น􀄞ำนักธุรกิจเยือนซาอุฯ-เตรียมร่างความตกลงความร่วมมือด้านแรงงาน
www.bbc.com/thai/thailand-60331401.amp
[4] บทความ “ความเป็นพี่น้องคือ มิตรภาพที่ดีในสังคม” แปลและเรียบเรียงโดย อับดุลวาเฮด สุคนธา
www.islammore.com/view/4417 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

อันดับที่_1_นายสักการียา_ตะฮาวัน.pdf