บทความชนะเลิศ โครงการประกวดบทความฯ ปี 2564 ชื่อบทความ "สวัสดิภาพสัตว์ในบทบัญญัติอิสลาม"

บทความชนะเลิศ โครงการประกวดบทความฯ ปี 2564 ชื่อบทความ "สวัสดิภาพสัตว์ในบทบัญญัติอิสลาม"

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 ม.ค. 2566

| 3,141 view

โครงการประกวดบทความเพื่อส่งเสริมทักษะทางวิชาการ ประจำปี 2564
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์

          

  1. ข้อมูลส่วนบุคคล

ชื่อ-สกุล

นายมูฮำหมัดกามัล  มาซอ

มหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษา

มหาวิทยาลัยอัลกอศีม

ชั้นปีที่ศึกษา

3

สาขาวิชาที่ศึกษา

อิสลามศึกษา

  1. ข้อมูลบทความ

ชื่อเรื่อง

สวัสดิภาพสัตว์ในบทบัญญัติอิสลาม

จำนวนหน้า (ไม่รวมอ้างอิง)

8 หน้า

จำนวนคำ (ไม่รวมอ้างอิง)

10740 คำ

 

 สวัสดิภาพสัตว์ในบทบัญญัติอิสลาม

สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ในปัจจุบัน ซึ่งสามารถสังเกตได้ เมื่อมีเหตุการณ์หรือข่าวคราวที่เกี่ยวข้องการการทารุณกรรมสัตว์หรือสัตว์ถูกปฏิบัติด้วยความไม่เหมาะสม ก็จะเกิดกระแสเรียกร้องความเป็นธรรมแก่สัตว์และแบนสินค้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความสนใจของผู้คน เกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและในแวดวงวิชาการ บทความชิ้นนี้ จึงพยายามอธิบายและนำเสนอ ข้อมูลเกี่ยวกับบทบัญญัติอิสลามในประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อเป็นองค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ และเป็นข้อปฏิบัติแก่ผู้ที่เป็นมุสลิม และยังเป็นการรณรงค์ร่วมกันปลูกจิตสำนึกให้มีความเมตตาและปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความเหมาะสม

               peta                                                                        

ภาพที่ 1 ผู้ชุมนุมจาก PETA ทาสีทั้งตัวถือป้ายระบุข้อความเลิกเอาสัตว์มาขังเพื่อความบันเทิง

ที่มา : PPTVHD 36

             สวัสดิภาพสัตว์คืออะไร ?

                   ในพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ (มาตรา ๓) ได้ให้นิยามของ การจัดสวัสดิภาพสัตว์ ว่า  “การเลี้ยงหรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ[1] และในข้อกำหนดสำหรับการเลี้ยงสัตว์ที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health : OIE) และกฎระเบียบ กฎหมายของสหภาพยุโรป (EU) ได้กำหนดไว้ คือ หลักสวัสดิภาพสัตว์ (Principle of Animal Welfare) 5 ประการ (Five Freedoms of Animals) ได้แก่

  1. สัตว์ที่เลี้ยงมีอิสระจากความหิว กระหาย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง (Freedom from hunger and thirst)
  2. มีอิสระจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม (Freedom from discomfort) มีการระบายอากาศในโรงเรือนที่ดีและไม่เลี้ยงเบียดเสียดหนาแน่น
  3. มีอิสระจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ หรือเป็นโรค (Freedom from pain, injury and disease) โดยมีระบบการป้องกันโรคที่ดี การปฎิบัติต่อตัวไก่เป็นไปอย่างนุ่มนวล การใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม พื้นที่การเลี้ยงที่สอดคล้องกับธรรมชาติของสัตว์
  4. มีอิสระจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน (Freedom from fear and distress) ด้วยสภาวะการเลี้ยงดูที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทางจิตใจ เช่น ระหว่างการจับไก่ก่อนการเข้าโรงเชือดต้องทำอย่างนุ่มนวล
  5. มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์ (Freedom to express normal behavior) คือมีอิสระการเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ และมีความสบายตามชนิดของสัตว์[2]

สวัสดิภาพของสัตว์ในบทบัญญัติอิสลาม

                   อิสลาม เป็นศาสนาแห่งความเมตตา และศาสนทูตของอิสลาม ถูกส่งมาเพื่อความเมตตาแก่ทุกสรรพสิ่งในสากลโลก   อัลลอฮฺตรัสความว่า

وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلا رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ

“และเรา(อัลลอฮฺ)มิได้ส่งเจ้า(มูหัมมัด)มาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อความเมตตาแก่สากลโลก”

(บทอัลอัมบิยาอฺ โองการที่ 170)

                        ชัยคฺ อิบนุ บาซ (อดีตมุฟตีราชอาณาจักรซาอุดิอาราเบีย) กล่าวว่า “ท่าน(นบีมูหัมมัด) คือ ศาสนทูตของอัลลอฮฺ แก่มวลมนุษย์ ท่าน คือ ความเมตตาจากอัลลอฮฺแก่สากลโลก ด้วยสาสน์ของท่าน และการเชื่อฟังคำสอนของท่าน ท่านเปรียบดั่งฝน คือผู้มอบประโยชน์แก่สากลโลก สัตว์ที่เป็นพาหนะ ต้นไม้ ญิน(สิ่งเร้นลับที่มนุษย์มองไม่เห็น ตามความเชื่อของมุสลิม) มนุษย์ และสัตว์ต่างๆทั้งปวง ล้วนได้รับความเมตตาจากท่าน”[3]

                       ด้วยเหตุนี้บทบัญญัติอิสลาม จึงเป็นบทบัญญัติที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาและโอบอ้อมอารี ต่อทุกสรรพสิ่ง รวมถึงสัตว์ อิสลามสอนให้ปฏิบัติด้วยกับความเมตตา และในทุกๆการปฏิบัติดีต่อทุกสิ่งที่มีชีวิตนั้น คือ บุญผลคุณงามความดีที่จะได้รับการตอบแทนจากผู้เป็นเจ้า

                       ในหะดีษบทหนึ่ง ที่ถูกบันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้เล่าเรื่องหนึ่งแก่บรรดาเศาะฮาบะฮฺ(สาวกของท่าน) ว่า “ขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังเดินทางอยู่ เขาก็รู้สึกกระหายน้ำอย่างรุนแรง หลังจากนั้นเขาก็พบกับบ่อน้ำ เขาจึงลงไปดื่มน้ำจากมัน และเมื่อเขาขึ้นมา ก็พบสุนัขตัวหนึ่งกำลังเลียดินเพราะความกระหาย เขาก็กล่าวว่า สุนัขตัวนี้ คงจะกระหาย เหมือนที่ฉันเคยกระหาย เขาจึงลงไปในบ่อน้ำอีกครั้ง และถอดถุงเท้าหนังมาใส่น้ำ และคาบมันด้วยปากของเขา เพื่อขึ้นมาจากบ่อ และเขาก็ได้ให้สุนัขตัวนั้นดื่มให้หายจากความกระหาย  อัลลอฮฺจึงขอบคุณเขาและอภัยโทษแก่เขา” บรรดาเศาะฮาบะฮฺจึงถามท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ว่า “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ แม้แต่กับสัตว์ (ถ้าเราปฏิบัติดีต่อมัน) เราจะได้รับผลบุญด้วยหรือ ?” ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- จึงกล่าวว่า “แน่นอน การทำดีต่อทุกสิ่งที่หัวใจยังเปียกชุ่มนั้น มีผลบุญ”[4]

                        หะดีษข้างต้นจึงชี้ให้เห็นถึงความประเสริฐของการทำดีต่อทุกสรรพสิ่งที่มีหัวใจ แล้วนับประสาอะไรกับการทำดีต่อเพื่อนมนุษย์ แน่นอนผลบุญย่อมเพิ่มทวีคูณ

                      และในขณะเดียวกัน อิสลามได้เตือนให้ระมัดระวังซึ่งการปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความทารุณ เพราะมันอาจเป็นสาเหตุให้บุคคลหนึ่งต้องถูกลงโทษในนรกก็เป็นได้  ในหะดีษ ที่ถูกบันทึกโดยมุสลิม ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- กล่าวว่า “หญิงคนหนึ่งต้องถูกลงโทษในนรก เนื่องจากแมวที่นางกักขังมันไว้ จนมันตาย  โดยที่นางไม่ได้ให้อาหารและน้ำดื่มแก่มัน และไม่ได้ปล่อยให้มันหาอาหารบนพื้นแผ่นดิน”[5] หะดีษบทนี้จึงสำทับมุสลิมให้ระมัดระวังมิให้อธรรมต่อสิ่งใด รวมถึงสัตว์ด้วย

                       ดังนั้นสวัสดิภาพของสัตว์ จึงเป็นเรื่องถูกพูดถึงมาเนิ่นนานแล้วในบทบัญญัติอิสลามโดยนักวิชาการอิสลามทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม   ส่วนหนึ่งของสวัสดิภาพสัตว์ในบทบัญญัติอิสลาม คือ

1.การไม่ฆ่าสัตว์โดยไม่มีจุดประสงค์ที่ถูกต้องหรือความจำเป็น

                       อิสลามอนุญาตให้ฆ่าสัตว์ก็ต่อเมื่อมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องเท่านั้น เช่น การใช้ประโยชน์จากมันในการดำรงชีพ การทำยารักษา การทดลองที่ก่อประโยชน์แก่มวลมนุษย์ การยับยั้งอันตรายจากสัตว์  เป็นต้น และไม่ส่งเสริมให้ฆ่าสัตว์เพื่อความสนุกสนานหรือวัตถุประสงค์อื่นๆที่ไม่ถูกต้อง ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- กล่าวว่า “พวกท่านจงอย่าได้นำสิ่งใดที่มีชีวิตมาเป็นเป้ายิงเป็นอันขาด” [6]   ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ -เราะฮิมาฮุลลอฮฺ- (นักวิชาการอิสลาม เสียชีวิตปี ค.ศ.1328) ได้กล่าวว่า “การล่าสัตว์(เพื่อการดำรงชีพ)นั้นอนุญาตให้กระทำได้ ส่วนการล่าสัตว์ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ใดๆเลย นอกจากการละเล่นและสนุกสนานนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง(มักรูฮฺ) และหากว่ามัน(การล่าสัตว์)เป็นการอธรรมต่อผู้คน ด้วยการทำอันตรายต่อการเพาะปลูก หรือทรัพย์สินของพวกเขา ย่อมเป็นเรื่องต้องห้าม(หะรอม)”[7]

 

hunting

ภาพที่ 2 หัวของสัตว์ต่างๆ ที่ถูกตั้งเป็นเหมือนถ้วยรางวัล จากกิจกรรม Trophy Hunting (การล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง) ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวอเมริกันบางกลุ่ม

ที่มา : qz.com

                        และในหะดีษอีกบทหนึ่งได้บ่งชี้ว่าทุกการฆ่าที่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องนั้น จะต้องถูกสอบสวนจากอัลลอฮฺ ผู้เป็นเจ้าในวันแห่งการตัดสิน ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- กล่าวว่า “ผู้ใดฆ่านกกระจอกเพียงตัวหนึ่ง หรือสัตว์อื่นๆที่นอกเหนือจากนั้น โดยไม่ถูกต้อง แน่แท้เขาจะถูกสอบสวนในวันแห่งการตัดสิน”[8]

                        และในการฆ่าสัตว์เหล่านั้น อิสลามสอนให้ปฏิบัติด้วยความประณีต เพื่อให้มันเจ็บปวดและทรมานน้อยที่สุด ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺนั้น ทรงบัญญัติให้ทำดีต่อทุกสิ่ง ดังนั้นเมื่อพวกเขาจะสังหารก็จงสังหารด้วยดี และเมื่อพวกเจ้าจะเชือดสัตว์ก็จงเชือดด้วยดี และพวกเจ้าจงลับมืดให้คม และจงปล่อยมัน(สัตว์ที่ถูกเชือด)ได้ผ่อนคลาย”[9]                     

 

2.การไม่ใช้แรงงานสัตว์เกินกว่ากำลังที่มันมี

                         สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอารมณ์และความรู้สึก ดังนั้นอิสลามจึงสอนให้ปฏิบัติกับมันด้วยความเหมาะสม ไม่ใช้แรงงานเกินกำลังและความสามารถที่มันมี ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- เคยกล่าวแก่เจ้าของอูฐตัวหนึ่งว่า “ท่านไม่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺหรือ เกี่ยวกับการดูแลสัตว์ตัวนี้ ที่อัลลอฮฺทรงมอบเป็นกรรมสิทธิ์แก่ท่าน แท้จริงมันได้ร้องทุกข์แก่ฉันว่า ท่านปล่อยให้มันหิวโหย และใช้งานมันหนักเกินไป”[10]

  donky  

ภาพที่ 3  ลาในเอเชียใต้ที่สภาพอ่อนล้า เนื่องจากถูกใช้งานอย่างหนักในอุตสาหกรรม อิฐบล็อก และไม่ได้รับน้ำและอาหารที่มีคุณภาพเพียงพอ

ที่มา : Prachatai.com

              อิมาม อิบนุ รอสลาน -เราะฮิมาฮุลลอฮฺ- (นักวิชาการอิสลาม เสียชีวิตปี ค.ศ.1440) ได้อธิบายหะดีษบทนี้ ว่า “กล่าวคือ พวกท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ด้วยการปฏิบัติดี ต่อสัตว์เหล่านี้ ซึ่งพวกมันนั้นไม่สามารถที่จะเปล่งวาจาเรียกร้องอะไรออกมาได้ และพวกท่านจะถูกสอบสวน ในเรื่องสิทธิของมัน หากปล่อยให้มันหิวโหย กระหาย อ่อนล้า หรือยากลำบาก และในหะดีษนี้ยังชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องมอบสิทธิแก่มันทั้งในเชิงวาญิบ(ภาคบังคับในศาสนา)และมันดูบ(ภาคสมัครใจในศาสนา) เช่น ให้อาหาร น้ำดื่ม ที่เพียงพอต่อมัน หรือการปล่อยให้มันหากินอย่างสมบูรณ์ และหากเขาไม่สามารถทำได้ ผู้ปกครองสามารถบังคับให้ปฏิบัติสิ่งดังกล่าว”[11]

 

3.การไม่พลัดพรากลูกของสัตว์จากแม่ของมันเกินก่อนวัยอันควร

                       สัตว์นั้นมีความรักและความผูกพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรัก ความผูกพันของแม่ที่มีต่อลูกน้อย บทบัญญัติอิสลามจึงสอนให้มีความเมตตาต่อแม่และลูกของสัตว์ ท่านอิบนุ มัสอูด       -เราะฎิยัลลอฮฺอันฮู- รายงานว่า ครั้งหนึ่งพวกเราเดินทางพร้อมกับท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- เมื่อท่านได้ไปทำธุระบางอย่าง เราได้พบนกพร้อมกับลูกของมัน 2 ตัว เราจึงจับลูกของมันมา แม่นกจึงส่งเสียงร้องครวญคราง  เมื่อท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- กลับมาจากทำธุระ ท่านกล่าวว่า “ใครกันที่ทำให้นกตัวนี้เจ็บปวดด้วยการพลัดพรากลูกของมัน ? จงรีบนำมันกลับยังแม่ของมันเดี๋ยวนี้เลย”[12]

 

4.การใช้ประโยชน์จากสัตว์อย่างระมัดระวัง

                   สัตว์นั้นถูกสร้างมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่มนุษย์  เช่น เป็นพาหนะ แปรรูปเป็นสิ่งอุปโภคบริโภค เป็นต้น   อัลลอฮฺตรัสความว่า

وَإِنَّ لَكُمْ فِي الْأَنْعَامِ لَعِبْرَةً ۖ نُّسْقِيكُم مِّمَّا فِي بُطُونِهِا وَلَكُمْ فِيهَا مَنَافِعُ كَثِيرَةٌ وَمِنْهَا تَأْكُلُونَ

และแท้จริงในปศุสัตว์นั้น ย่อมมีบทเรียนอย่างแน่นอนแก่พวกเจ้า

เราได้ให้พวกเจ้าได้ดื่มสิ่งที่มีอยู่ในท้องของมัน(น้ำนม) และในตัวมันนั้นมีประโยชน์มากมาย และ(ปศุสัตว์)บางชนิดพวกเจ้าก็บริโภคมัน

(บทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 21)  

                  แต่กระนั้นการใช้ประโยชน์จากสัตว์ต้องอยู่ในพื้นฐานของความเอ็นดูและเมตตามัน คำนึงถึงความปลอดภัยของมันอยู่เสมอ  ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้เคยกำชับท่านอิบนิลเราะบีอ์ -เราะฎิยัลลอฮฺอันฮู- เกี่ยวกับการดูแลอูฐ ว่า “เมื่อท่านกลับบ้านของท่าน จงสั่งให้พวกเขาให้อาหารแก่ลูกอูฐอย่างดี และจงสั่งให้พวกเขาตัดเล็บของพวกเขาให้สั้น เพื่อมันจะได้ไม่ข่วนเต้านมของอูฐขณะรีดนมมัน”[13]

 

5.การไม่ทำร้าย ทรมาน หรือทำให้เจ็บปวด

                      ความอธรรมนั้น เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งความโกรธกริ้วของผู้เป็นเจ้า และทำให้ห่างไกลจากความเมตตาของพระองค์ ซึ่งรวมถึงการอธรรมต่อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้าย ทรมาน หรือทำให้เจ็บปวด   ครั้งหนึ่งท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้เห็นลาตัวหนึ่งที่ถูกทำเครื่องหมายตรงใบหน้า ท่านจึงกล่าวว่า “อัลลอฮฺ ทรงสาปแช่งผู้ที่ทำสิ่งดังกล่าว”[14] เพราะสิ่งดังกล่าวเป็นการสร้างความเจ็บปวดแก่สัตว์ และท่านญาบิร –เราะฎิยัลลอฮฺอันฮู- ได้รายงานว่า “ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ได้ห้ามมิให้ทำเครื่องหมายตรงใบหน้าสัตว์และทุบตีตรงใบหน้าด้วย”[15]

                       ท่านอัลมุบารอกฟูรีย์ -เราะฮิมาฮุลลอฮฺ- (นักวิชาการอิสลาม เสียชีวิตปี ค.ศ.1934) กล่าวว่า “การห้ามทุบตีตรงใบหน้านั้น มันเป็นสิ่งต้องห้ามกระทำต่อทุกสิ่งมีชีวิต แม้มิใช่มนุษย์ก็ตาม เพราะใบหน้านั้นคือจุดรวมความงดงาม และลักษณะผิวของมันนั้นอ่อน หากทุบตีแล้ว รอยแผลของมันจะชัดเจน”[16]

camel

ภาพที่ 4 อูฐที่ถูกทำเครื่องหมาย ตรงใบหน้า

ที่มา : ทวิตเตอร์ @irshadvetalser

                          และอิบนุ อับบาส -เราะฎิยัลลอฮฺอันฮูมา ยังรายงานว่า “ท่านบี -ศ็อลลัลลอฮฮุอะลัยฮิวะสัลลัม- ห้ามมิให้นำสัตว์มาต่อสู้ชนกัน”[17]

                    ท่านอะษีม อาบาดีย์ -เราะฮิมาฮุลลอฮฺ- (นักวิชาการอิสลาม เสียชีวิตปี 1911) อธิบายว่า “นั่นคือ การตั้งใจยั่วยุและปั่นป่วน ระหว่างสัตว์ทั้งสอง ให้ต่อสู้กัน ดั่งที่ถูกปฏิบัติกับแพะแกะ ไก่ และอื่นๆ สาเหตุที่บทบัญญัติห้าม คือ เพราะมันเป็นการสร้างความเจ็บปวดและอ่อนล้าแก่สัตว์โดยไร้ประโยชน์ใดๆ นอกจากเป็นเพียงความสนุกสนานที่ไร้สาระ”[18]

                         

rooster

ภาพที่ 5 ไก่ชนที่เจ็บปวดและอ่อนล้าในการแข่งขันชนไก่

ที่มา : oknation.nationtv.tv

                             ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ส่วนหนึ่งของสวัสดิภาพสัตว์ในบทบัญญัตอิสลาม ศาสนาแห่งความเมตตาและทางนำแห่งสากลโลก ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นข้อมูลแก่พี่น้องมุสลิมในการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านศาสนาในชีวิตประจำวัน และสามารถใช้ชีวิตร่วมกันกับทุกชีวิตด้วยความเมตตา อ้อบโอมอารีต่อกันและกัน รวมถึงเป็นองค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อร่วมกันสร้างและปลูกจิตสำนึกสังคมที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาและเห็นคุณค่าของทุกชีวิต

บรรณานุกรม

หนังสือ

สมาคมศิษย์เก่าอาหรับ ประเทศไทย. (ม.ป.ป.). พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมคำแปลภาษาไทย. มาดินะฮ์  ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัด เพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน

อิบนุ ตัยมียะฮ. (1987). อัลฟาตาวาอัลกุบรอ. เบรุต : สำนักพิมพ์ดาร กุตุบ อัลอิลมิยะฮฺ

อิบนุ รอสลาน.(2016). ชัหร์สุนันอบีดาวูด. อัลฟัยยูม : สำนักพิมพ์ดารฟะลาฮฺ

อัลมุบารอกฟูรีย์.(ม.ป.ป.). ตุฮฟะตุลอะฮฺวะซีย์. เบรุต : สำนักพิมพ์ดารุลฟิกร์             

อะษีม อัลอะบาดีย์.(2005). เอานุลมะอฺบูด.  เบรุต : สำนักพิมพ์อิบนุฮัซม์

 

พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๓

 

เว็บไซต์

ชัยคฺ อิบนุ บาซ. ตัฟสีรอายะฮ. สืบค้นเมื่อ กันยายน 2564, สืบค้นจาก https://binbaz.org.sa/fatwas/12434

ซีพีเอฟ. Animal Welfare : หลักสวัสดิภาพสัตว์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน). สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 2564, สืบค้นจาก https://www.cpfworldwide.com/th/media-center/1026

 

แอปพลิเคชัน

Arabia For Information & Technology Books & Reference. (2017).The nine books of Hadith.จาก play.google.com/store/apps/details?id=com.arabiait.sunna&hl=en&gl=US

 

[1] พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๓

[2] ซีพีเอฟ. Animal Welfare : หลักสวัสดิภาพสัตว์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน). สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 2564, สืบค้นจาก https://www.cpfworldwide.com/th/media-center/1026

[3] ชัยคฺ อิบนุ บาซ. ตัฟสีรอายะฮ. สืบค้นเมื่อ กันยายน 2564, สืบค้นจาก https://binbaz.org.sa/fatwas/12434

[4] บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 3467 และมุสลิม 2245

[5] บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 3165 และมุสลิม เลขที่ 4879

[6] บันทึกโดย มุสลิม เลขที่ 1957

[7] ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮ. อัลฟาตาวาอัลกุบรอ. (1987) เบรุต : สำนักพิมพ์ดาร กุตุบ อัลอิลมิยะฮฺ เล่ม 5 หน้า 550

[8] บันทึกโดย อันนะซาอีย์ เลขที่ 4534

[9] บันทึกโดย มุสลิม เลขที่ 1955

[10] บันทึกโดย อบูดาวูด เลขที่ 2549 และอะหมัด เลขที่ 1745

[11] อิมาม อิบนุ รอสลาน. ชัหร์สุนันอบีดาวูด. (2016) อัลฟัยยูม : สำนักพิมพ์ดารฟะลาฮฺ เล่ม 11 หน้า 211-212

[12] บันทึกโดยอบู ดาวูด เลขที่ 2675

[13] บันทึกโดย อะหมัด เลขที่ 15961

[14] บันทึกโดย มุสลิม เลขที่ 2117

[15] บันทึกโดย อัตติรมีซีย์ เลขที่ 1710

[16] อัลมุบารอกฟูรีย์. ตุฮฟะตุลอะฮฺวะซีย์. (ไม่ระบุปีพิมพ์) เบรุต : สำนักพิมพ์ดารุลฟิกร์ เล่ม 5 หน้า 368

[17] บันทึกโดย อบูดาวูด เลขที่  2562 และอัตติรมีซีย์ 1708

[18] อะษีม อัลอะบาดีย์. เอานุลมะอฺบูด. (2005). เบรุต : สำนักพิมพ์อิบนุฮัซม์ เล่ม 1 หน้า 1172

เอกสารประกอบ

สวัสดิภาพสัตว์ในบทบัญญัติอิสลาม_1.pdf