วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ม.ค. 2566

| 13,287 view

การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์และอุมเราะห์

ในแต่ละปีมีผู้แสวงบุญชาวไทยมุสลิมเดินทางมายังเมืองมักกะห์ฯ และเมืองมาดีนะห์ฯ เพื่อประกอบพิธีฮัจย์และอุมเราะห์ปีละหลายหมื่นคนร่วมกับผู้แสวงบุญชาวมุสลิมหลายล้านคนจากทั่วโลก การประกอบศาสนกิจดังกล่าวให้ครบถ้วนสมบูรณ์ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากจึงต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ อย่างรอบคอบ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ในฐานะหน่วยงานราชการของไทยซึ่งมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพของพี่น้องชาวไทยในพื้นที่ จึงได้ประมวลข้อมูลและคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้แสวงบุญชาวไทยใช้ประกอบการเตรียมความพร้อมในการเดินทางมาแสวงบุญที่ซาอุดีอาระเบีย ดังนี้

1. การเตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง

    1.1 รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และหมั่นออกกำลังกายล่วงหน้า โดยเฉพาะการเดินเนื่องจากการประกอบพิธีอุมเราะห์มีระยะทางการเดินอย่างน้อย 5 กิโลเมตร และระยะทางการเดินสำหรับการประกอบพิธีฮัจย์จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว)

    1.2 ตรวจสุขภาพก่อนเดินทาง และจัดเตรียมยารักษาโรคประจำตัว และยาสามัญประจำบ้าน

    1.3 สำหรับผู้ประกอบพิธีฮัจย์ในปี 2566 กระทรวงฮัจย์และอุมเราะห์ของซาอุดีฯ กำหนดให้ต้องได้รับวัคซีน 3 ประเภท คือ วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และวัคซีนโควิด-19

    1.4 ตรวจสอบสภาพอากาศและจัดเตรียมเสื้อผ้าให้เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์

    1.5 ศึกษาขั้นตอนการประกอบพิธีฮัจย์หรืออุมเราะห์ให้ถี่ถ้วน

    1.6 เตรียมค่าใช้จ่ายส่วนตัวให้เพียงพอ ทั้งนี้ การนำเงินสดหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกินกว่า 60,000 ริยาล หรือประมาณ 600,000 บาท เข้าหรือออกนอกประเทศโดยไม่สำแดงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีโทษทั้งจำคุก
และเสียค่าปรับ

    1.7 ซื้อประกันการเดินทางในต่างประเทศเพิ่มเติม นอกเหนือจากประกันสุขภาพที่ซื้อพร้อมกับวีซ่าอุมเราะห์หรือฮัจย์เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการส่งตัวกลับประเทศไทยกรณีเจ็บป่วย (การส่งผู้ป่วยแบบนอนเตียงกลับประเทศไทยทางอากาศมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท ซึ่งประกันสุขภาพที่ผู้แสวงบุญซื้อพร้อมกับวีซ่าอุมเราะห์หรือฮัจย์ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้)

    1.8 การนำอาหารติดตัวไปจากประเทศไทยควรมีจำนวนที่เหมาะสมต่อการบริโภคส่วนบุคคลและเป็นอาหารแปรรูปที่มีบรรจุภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการเน่าเสียระหว่างการเดินทาง การนำอาหารจำนวนมากเข้ามายังซาอุดีฯ อาจเป็นที่ต้องสงสัยว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า และเจ้าหน้าที่ศุลกากรของซาอุดีฯ มีสิทธิตรวจยึดสิ่งของดังกล่าว

2. การปฏิบัติตัวขณะอยู่ในซาอุดีอาระเบีย

    2.1 สิ่งของที่แนะนำให้พกติดตัวตลอดเวลา อาทิ ป้ายห้อยคอหรือกำไลข้อมือซึ่งจัดเตรียมโดยบริษัทนำเที่ยว สำเนาหนังสือเดินทาง สำเนาวีซ่า แว่นกันแดด ร่ม กระติกน้ำ หน้ากากอนามัย

    2.2 ซื้อ SIM Card โทรศัพท์มือถือ หรือเปิดบริการสัญญาณโทรศัพท์จากประเทศไทย (Roaming) เพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร

    2.3 ควรไปมัสยิดหรือสถานที่ต่าง ๆ พร้อมกันเป็นกลุ่มเพื่อป้องกันการหลงทาง

    2.4 เลือกรับประทานอาหารปรุงสุกที่สะอาด สด ใหม่

    2.5 สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่แออัดหรือมีฝุ่น และหมั่นล้างมือให้สะอาด

    2.6 หากมีอาการเจ็บป่วยในช่วงการประกอบพิธีฮัจย์ สามารถติดต่อสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีแพทย์และพยาบาลคอยให้บริการสำหรับผู้แสวงบุญไทยที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย และสำหรับผู้แสวงบุญอุมเราะห์ หรือผู้แสวงบุญฮัจย์ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

    2.7 ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในช่วงการประกอบพิธีฮัจย์ที่ตำบลมีนา อารอฟะห์ และมุซดาลีฟะห์ เนื่องจากมีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก

    2.8 สำหรับผู้แสวงบุญอุมเราะห์ สามารถติดตั้งแอปพลิเคชัน Nusuk ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีบริการต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้แสวงบุญ

    2.9 กรณีมีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน สามารถติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 056 808 1224 หรือ 056 821 2203 ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการไม่ตอบคำถามทั่วไปผ่านหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินดังกล่าว

3. การเดินทางกลับประเทศไทย

    3.1 จัดเตรียมจำนวนและน้ำหนักของสัมภาระให้เป็นไปตามที่สายการบินกำหนด

    3.2 การนำน้ำซัมซัม (Zam Zam Water) กลับประเทศไทยเป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเป็นการเฉพาะ ผู้แสวงบุญไม่สามารถบรรจุน้ำซัมซัมในภาชนะด้วยตนเองเพื่อนำขึ้นเครื่องบิน ทั้งนี้ ทางการซาอุดีฯ อนุญาตให้ผู้ที่ถือวีซ่าอุมเราะห์และฮัจย์เท่านั้นที่จะนำน้ำซัมซัมออกนอกซาอุดีฯ ได้

    3.3 กรณีหนังสือเดินทางสูญหาย ให้ติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ ผ่านหมายเลขฉุกเฉิน เพื่อออกหนังสือเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Passport)

    3.4 เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ให้สังเกตสุขภาพของตนเอง หากมีสิ่งผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์