วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 ม.ค. 2566

| 2,354 view

การทำหนังสือเดินทาง

1. คุณสมบัติของผู้ถือหนังสือเดินทาง

    1.1 หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปสำหรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์) ให้มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี และไม่สามารถต่ออายุได้

    1.2 หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปสำหรับบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ ให้มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี หรือไม่เกิน 10 ปี และไม่สามารถต่ออายุได้ ทั้งนี้ สำหรับบุคคลที่บรรลุนิติภาวะที่มีชื่อในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร แต่ยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน และเป็นการยื่นขอหนังสือเดินทางเป็นครั้งแรกในต่างประเทศ จะสามารถยื่นขอรับหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น จนกว่าจะเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรก จึงจะสามารถยื่นขอรับหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่เกิน 10 ปีได้

2. อัตราค่าธรรมเนียม

    2.1 หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี ค่าธรรมเนียม 130 ริยาล

    2.2 หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียม 200 ริยาล

    2.3 หนังสือเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Passport) มีอายุไม่เกิน 1 ปี ค่าธรรมเนียม 30 ริยาล

    2.4 เอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document) ไม่มีค่าธรรมเนียม

                 ** หากชำระค่าธรรมเนียมข้างต้นแล้ว ไม่สามารถเรียกคืนได้**

3. เอกสารหรือหลักฐานสำหรับการขอมีหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไป

    3.1 กรณีผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป)

         1) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงที่ยังมีอายุการใช้งาน และไม่ถูกยกเลิก

         2) หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี) เฉพาะกรณีหนังสือเดินทางเล่มเดิมที่ยังมีอายุการใช้งาน หรือใบแจ้งความสำหรับกรณีหนังสือเดินทางเล่มเดิมที่ยังมีอายุการใช้งานสูญหาย

         3) เอกสารหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ - ชื่อสกุล (หากมี)

         4) แบบกรอกข้อมูลขอทำหนังสือเดินทาง 1 ชุด

    3.2 กรณีผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์)

         1) สูติบัตร (กรณีผู้เยาว์อายุยังไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ และยังไม่ได้ทำบัตรประจำตัวประชาชน) หรือบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เยาว์ฉบับจริงที่ยังมีอายุการใช้งาน

         2) สำเนาทะเบียนบ้าน (หากเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านไทยแล้ว)

         3) เอกสารหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ - ชื่อสกุล (หากมี)

         4) หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)

         5) บัตรประจำตัวประชาชนของบิดาและมารดา (หากบิดาหรือมารดาเป็นชาวต่างชาติให้ใช้หนังสือเดินทางฉบับจริงของบิดาหรือมารดาแทน) โดยบิดาและมารดาต้องมาลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ณ เวลาทำหนังสือเดินทาง ทั้งนี้

                     - กรณีบิดาหรือมารดา หรือทั้งสองไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ สามารถทำหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศที่อำเภอ สำนักงานเขตหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยในกรณีที่บิดาหรือมารดาอยู่ในต่างประเทศ

                     - กรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ที่บิดาและมารดาไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจที่อำเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทยกรณีที่บิดาหรือมารดาอยู่ในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้อื่น (ที่บรรลุนิติภาวะ/20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) เป็นผู้พาผู้เยาว์มายื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางเพิ่มเติมจากหนังสือยินยอมฯ ข้างต้น พร้อมบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ

                     - กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสและผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะของมารดา มารดาสามารถลงนามให้ความยินยอมฯ ได้ฝ่ายเดียวพร้อมกับบันทึกคำให้การรับรองการปกครองบุตร (ป.ค.14) ที่ออกโดยอำเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น

                     - กรณีบิดาและมารดาจดทะเบียนหย่า บิดาหรือมารดาที่ระบุให้เป็นผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์แต่ผู้เดียวในบันทึกการหย่า หรือมีคำสั่งศาล สามารถเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ ได้ฝ่ายเดียว

4. การรับเล่ม

    4.1 หนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี หรือ 10 ปี ผู้ร้องสามารถรับเล่มหนังสือเดินทางได้ประมาณ 4 - 6 สัปดาห์หลังวันยื่นคำร้อง โดยรับด้วยตัวเองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับแทน

     4.2 หนังสือเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Passport - EP) อายุการใช้งานไม่เกิน 1 ปี ผู้ร้องสามารถรับเล่มหนังสือเดินทางได้หลัง 2 วันทำการนับแต่วันยื่นคำร้อง